ข้อมูลทั่วไป

ประวัติความเป็นมา

พยุหะคีรี เดิมเป็น เป็นเมืองๆ หนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัดนครสวรรค์ มีหน้าที่เก็บเงินส่วยอากร ผู้มีหน้าที่เก็บส่วยอากรสมัยนั้นชื่อ หลวงภูมิ ได้ตั้งบุตรชายของตนชื่อ จันทร์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพยุหะคีรี มีที่ทำการอยู่ข้างวัดพระปรางค์เหลืองตำบลท่าน้ำอ้อย ต่อมาได้ย้ายที่ทำการไปอยู่บ้านสระเศรษฐี ตำบลน้ำทรง ตั้งที่ทำการแบบชั่วคราวมีจวนเจ้าเมือง บ้านราชการ เรือนจำ (ล้อมด้วยไม้ไผ่) เจ้าเมืองคนต่อมา ชื่อ กัน และ อิ่ม ต่อมามีโจรกล่มหนึ่งคุมสมัครพรรคพวกประมาณ 40 คน เข้าทำการปล้นจวนเจ้าเมือง สถานที่ราชการ จึงได้ย้ายตัวเมืองพยุหะคีรีมาตั้งอยู่ที่คลองหลวงพิบูลย์ เมื่อสิ้นอายุเจ้าเมืองอิ่มแล้ว เจ้าเมืองคนต่อมาชื่อ ปุ้ย ได้ย้ายตัวเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าแร่ สร้างที่ว่าการอำเภอพยุหะคีรีขึ้น ณ ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี ประกาศตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2473 ปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาตะเภา หมู่ที่ 3 ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพอจะสืบสาวราวเรื่องได้จากท่านผู้หลักผู้ใหญ่ หรือนิทานปรัมปราว่าลูกชายเจ้าพ่อสิงห์ หรือเจ้าพ่อเขาสิงห์รักใคร่อยู่กับ ลูกสาวเมืองสระเศรษฐี จึงได้จัด ขบวนขันหมากใหญ่เท่าภูเขามาตั้ง ไว้ตามทิศทางต่าง ๆ ทิศเหนือมีภูเขาโยง ภูเขาลูกนี้ติดต่อโยงกันเป็นพืด กับแดนทางเหนือเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย ที่จะมาชิงทรัพย์สินและขันหมาก ทิศตะวันออกมี เขาปกล้น ทิศตะวันตกมีเขาพระแวง (ขณะนี้อยู่ในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานีครึ่งหนึ่ง) ขบวนขันหมากและผู้คนได้จัด อาหารคาว – หวานที่เขาฝอยทอง เมื่อกินอาหารคาว – หวานกันเสร็จแล้ว ก็นำถ้วยชามไปทำการล้างที่ บึงกระดิ่ง (ในบึงกระดิ่งนี้มีเศษถ้วยชามซึ่งเป็นของเก่าจมอยู่ในบึงเป็นจำนวนมาก) และได้จัดแก้วแหวน เงินทองซึ่งจะต้องนำไปให้ฝ่ายเจ้าสาวที่เขาแก้ว ตำบลพยุหะ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์เรียกกันว่า เขาแก้ว ตลอดมา เมื่อได้เวลาอันเป็นมงคลจึงได้ทำการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยจัดขบวนเจ้าสาวล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำการส่งตัวเจ้าสาวที่เมืองสระเศรษฐี ซึ่งมีชื่อต่อมาจนถึงทุกวันนี้ว่า บ้านสระเศรษฐี ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อ กันมาเป็นทำนองนิยายปรัมปราว่า ถึงวันดีคืนดี คือวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันธรรมสวนะ จะได้ยินเครื่องสาย มโหรี ปี่พาทย์ในสระเศรษฐีนั้นการที่อำเภอนี้มีชื่อประกอบด้วยคำบาลีสันสกฤติสองพยางค์ คือ พยุหะ กับ คีรี คำว่า พยุหะ แปลว่า ขบวนกองทัพ คำว่า คีรี แปลว่า ภูเขา พยุหะคีรีจึงแปลว่า กองทัพภูเขา หมายถึงการมีภูเขามากมายนั่นเอง ตามหลักภาษา คำนี้ไม่ต้องประวิสรรชนี (เติมสระอะ) ที่ตัวท้ายของพยางค์แรก แต่ได้ใช้กันอย่างนี้มานานแล้ว และยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ที่ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องเพราะอาจจะถือว่าเป็นคำนามเข้ากรณียกเว้นได้ ไม่อาจสืบเรื่องราวได้ว่า ใครเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ แต่ยอมรับกันว่าเป็นชื่อที่เหมาะสม เพราะฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนเหนือ เต็มไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซัอนกันมากมาย ถ้าหากมองดีๆ แล้ว เบื้องบนจะเห็นภูเขา ต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกองทัพที่เคลื่อนพลไปรุกรบ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ทุกขณะ โดยประกอบด้วย ภูเขาลูกน้อยใหญ่เป็นขุนพลนำทัพอยู่เบื้องหน้าติดตามด้วยภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ภูเขาลูกเล็กลูกน้อย ซึ่งเปรียบเสมือนพลทัพและนายกอง ภูเขาอันสลับซับซ้อนนี้ ได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของ อำเภอพยุหะคีรี อยู่จนทุกวันนี้ เดิมที่ว่าการ อำเภอพยุหะคีรี ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ ถนนชิดวารี หมู่ที่ 6 ตำบลพยุหะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ เก่าแก่ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในภาคกลาง คือ บ้านหัวแด่น ซึ่งคล้ายกับ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ตั้งอยู่ที่ ปากน้ำโพ จึงทำให้ชาวบ้านเรียกอำเภอนี้ว่า อำเภอหัวแด่น ไปก็มี

คำว่า หัวแด่น สืบเนื่องมาจากนิยายปรัมปราเล่าสืบกันมาครั้งโบราณว่าที่เชิงเขาแก้ว อันเป็นบริเวณที่ตั้ง วัดเขาแก้วในปัจจุบัน มีถ้าอยู่ถ้ำหนึ่งถ้ำนี้ลึก และยาวไปสุดปลายถ้ำที่ริมน้ำเจ้าพระยา จากคำบอกเล่าของ ผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ถ้ำนี้ยังมีอยู่แต่เดี่ยวนี้ได้ถูกปิดไปเสียแล้ว มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้ง กระโน้น ถ้ำนี้เป็นที่เก็บสมบัติของกษัตริย์โบราณ เช่น เพชร นิล จินดา แก้ว แหวนเงินทอง แต่ไม่ค่อยมีผู้ใด พบเห็นบ่อยนักนับว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้เห็นแล้วจะหยิบฉวยเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว ก็ไม่ได้เพราะมีวัวใหญ่ตัวหนึ่งเฝ้าอยู่วัวตัวนี้เล่ากันว่ามีรูปร่างใญ่โต มีลักษณะสง่างาม สีแดง ที่หน้าผาก มีสีขาวด่าง ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัวแด่น ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น หัวแด่น ชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้านใหม่ ที่ตั้งอยู่บริเวณเขานั้น ปัจจุบันที่ว่าการ อำเภอพยุหะคีรี ได้ย้ายไปเปิดทำการ ณ ที่แห่งใหม่ บริเวณเขาตะเภา หมู่ที่ 3 ถนนสายเอเชีย ตำบลสระทะเล ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2541 เป็นต้นมา

เมื่อปี พ.ศ.2443 กรมการอำเภอพยุหะคีรี มีขุนเจนธุรกิจเป็นนายอำเภอ ได้ซื้อบ้านและที่ดินจากราษฎร หมู่ที่ 4 ตำบลพยุหะคีรี ชื่อนายแกร นิ้มฮ้อ เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท เปิดเป็นสุขศาลา ซึ่งมีนายโปรย ชุ่มวงษ์ เป็นอนามัยอำเภอและเป็นเจ้าหน้าที่ ต่อมายกฐานะเป็นสถานีอนามัยประจำอำเภอในปี พ.ศ.2484 มีนายประสิทธิ์ วัฒนแพทย์ เป็นอนามัยอำเภอ และนายเขียน คุ้มปรีดี เป็นสาธารณสุขอำเภอ ตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ.2530 มีการก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง ขึ้นที่หมู่ 9 บ้านศาลพระวงศ์ และเปิดให้บริการในวันที่ 15 สิงหาคม 2530 จึงโอนเจ้าหน้าที่ไปสังกัดโรงพยาบาลชุมชนและใช้ตัวอาคารสถานีอนามัย เป็นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และได้ย้ายมาอยู่หมู่ที่ 9 บ้านศาลพระวงศ์ จนถึงปัจจุบัน